นครศรีธรรมราชที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นฮับทางด้านปศุสัตว์
ขณะที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกำลังนับถอยหลังเข้ามา และสินค้าเกษตรของไทยเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญในภูมิภาคนี้ ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานความปลอดภัยป้อนสู่ตลาดอาเซียน และตลาดโลกต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน บริษัท วีเอ็นยู เอ็กซิบิชั่นส์ เอเชีย แปซิฟิค จำกัด จึงได้จัดงานสัมมนาเกษตรก้าวหน้าครั้งที่ 4 ขึ้น โดยเลือกจังหวัดนครศรีธรรมราชที่กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นฮับทางด้านปศุสัตว์ ทั้งแพะเนื้อคุณภาพ และวัวเนื้อพันธุ์พื้นเมือง
รศ.ดร.สมิต ยิ้มมงคล ภาควิชาสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ระบุว่า สำหรับวัวเรื่องสายพันธุ์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และนครศรีธรรมราชก็เป็นแหล่งวัวพื้นเมืองที่ดีที่สุดในประเทศไทย เป็นที่เดียวที่ยังเหลือวัวพื้นเมืองพันธุ์แท้อยู่ แม้ขนาดของตัวจะเล็กเมื่อเทียบกับวัวนำข้า แต่วัวพันธุ์พื้นเมืองนี้ทนต่อโรคและมีความสมบูรณ์พันธุ์ดีที่สุด เมื่อนำมาผสมกับวัวนอกผลที่ได้ก็คือจะทำให้ได้เนื้อวัวคุณภาพดี และนี่คือสิ่งที่จะทำให้ไทยได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
ขณะที่ในส่วนของแพะเนื้อนั้น นายวชิรพล ศุกรภาค ที่ปรึกษาสมาคมผู้เลี้ยงแพะ-แกะไทย และนักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ ประจำปศุสัตว์จังหวัดนนทบุรี ระบุว่า การเลี้ยงแพะเนื้อของนครศรีธรรมราชนั้นถือว่าได้เปรียบที่อื่น ๆ เพราะนอกจากจะอยู่ใกล้กับแหล่งพันธุกรรมที่ดีที่สุดของแพะสายพันธุ์บอร์แล้ว แม้จะมีปัญหาบ้างในเรื่องของความชื้น แต่กลับได้เปรียบในเรื่องของอาหารประเภทโปรตีนที่จะมาช่วยเสริมอย่างปาล์มหรือกากมะพร้าวที่ให้พลังงานสูง
นายประจบ วรินทรเวช ประธานวิสาหกิจชุมชน กลุ่มเลี้ยงแพะบ้านแร่ ฟาร์มแพะมาตรฐาน อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้ที่ประสบความสำเร็จในการนำแพะพันธุ์บอร์มาผสมกับพันธุ์พื้นเมือง จนทำให้ได้แพะเนื้อที่มีขนาดใหญ่ โตเร็ว ทั้งยังเพิ่มการตกลูกมากขึ้น โดยจะเลี้ยงไว้ในสวนแบบผสมผสานแต่มีการจัดสร้างโรงเรือนอย่างได้มาตรฐาน “เรานำภูมิปัญญามาใช้ในการพัฒนาสายพันธุ์โดยมีการซื้อหาพ่อพันธุ์มาเพื่อไม่ให้สายเลือดใกล้ชิดกันเกินไป อัตราการเติบโตของแพะจะต้องไม่น้อยกว่า 5 กิโลกรัม แพะที่นี่พัฒนาไปถึงการเพิ่มอัตราการเกิดได้มากที่สุดถึง 4 ตัวจากปกติเพียง 1-2 ตัวเท่านั้น”
นายพรภิรมย์ ฟุ้งตระกูล ปศุสัตว์ อ.ร่อนพิบูลย์ ระบุว่า แพะเนื้อที่นี่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดเพราะได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่อง ในด้านความสมบูรณ์ของแพะเนื้อ ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านอาหารธรรมชาติของแพะที่ใช้หญ้าร่วมกับต้นสาคูที่มีอยู่ในท้องถิ่นผสมผสานกับอาหารสำเร็จรูปทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง
ส่วน ชนินทร จิระภิญโญ เจ้าของฟาร์มแพะบอร์จุฬาภรณ์ อ.จุฬาภรณ์ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งประสบความสำเร็จในการผสมพันธุ์เช่นกัน มีเทคนิคการเลี้ยงที่แตกต่างกันเล็กน้อย โดยจัดสร้างโรงเรือนและกันพื้นที่ไว้อย่างเป็นสัดส่วน เน้นที่การเพาะเลี้ยงพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์เพื่อส่งต่อแทนที่จะเน้นไปที่การขายแพะเนื้อแบบทั่วไป
“หลังจากเข้ามาคลุกคลีจึงเห็นช่องทางว่า ตลาดพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์แพะเนื้อพันธุ์ดียังค่อนข้างจำกัด จึงหันมาผลิตทางด้านนี้ด้วยแทนที่จะเลี้ยงเพื่อส่งขายเนื้อเพียงอย่างเดียว เพราะมีความต้องการสูงมาก โดยจะสรรหาพ่อพันธุ์ที่ดีมาเป็นตัวตั้งต้นและผสมเพื่อให้สายเลือดของแพะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ”
จากที่อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยเพียงแค่ 1 กิโลกรัมต่อเดือน ปัจจุบันสามารถพัฒนาให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ 4 กิโลกรัมต่อเดือน เลี้ยงเพียง 3-4 เดือนก็จะได้แพะเนื้อน้ำหนักประมาณ 20 กิโลกรัม ซึ่งเป็นขนาดที่ต้องการของตลาดซึ่งมักจะขายทั้งตัว โดยราคาเนื้อแพะในตลาดปัจจุบันอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 160 บาท ตลาดส่วนใหญ่จะส่งไปยัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และชาวมุสลิมที่ซื้อเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยกำลังจะมีการขยายตลาดไปยังตะวันออกกลางในรูปแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปนี่เป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมทางด้านปศุสัตว์ของไทยที่พัฒนาผ่านประสบการณ์และภูมิปัญญาท้องถิ่น ..
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น